บัวบก
บัวบก | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
หมวด: | Magnoliophyta |
ชั้น: | Magnoliopsida |
อันดับ: | Apiales |
วงศ์: | Apiaceae |
สกุล: | Centella |
สปีชีส์: | C. asiatica |
ชื่อทวินาม | |
Centella asiatica (L.) Urban | |
ชื่อพ้อง[1] | |
บัวบก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Centella asiatica) เป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในแถบเอเชีย เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี เลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ชอบที่ชื้นแฉะแตกรากฝอยตามข้อ[2] เป็นพืชใบเดี่ยว มีก้านใบยาว ชูใบคล้ายกางร่ม ใบที่มีลักษณะกลม ขอบใบหยัก ผิวเรียบ ด้านล่างใบมีขนสั้นบางๆ ดอกออกเป็นช่อ ออกมีข้อละ 2-3 ช่อ แต่ละช่อมีดอก 3-4 ดอก แต่ละดอกมี 5 กลีบ ใบบัวบกสามารถช่วยรักษาแผลให้หายได้เร็วขึ้นและยังช่วยลดอาการอักเสบของแผลได้ดี เพราะมีกรดมาเดคาสสิก กรดอะเซียติก และสารอะเซียติโคไซด์ ยาแผนปัจจุบันทำเป็นรูปครีมผงโรยแผล ยาเม็ดรับประทาน เพื่อใช้รักษาแผลสดและแผลผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นแผลไฟไหม้ หรือแผลฝีหนองหรือแผลสด โดยใช้ใบและต้นสดตำละเอียดคั้นน้ำทานวันละ 3 - 4 ครั้ง หรืออาจใช้กากพอกบริเวณแผลด้วย
สารสกัดด้วยน้ำของใบบัวบกที่มีความเข้มข้น 31.25 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรยับยั้งการเจริญของ Flavobacterium columnaris ในอาหารเลี้ยงเชื้อได้[3] บัวบกที่สกัดด้วยเอทานอล มีความเป็นพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยง Vero cell โดยมีค่า CD50 เท่ากับ 0.16 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร[4] สารสกัดจากต้นสดที่สกัดด้วยเอทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสและต้านอนุมูลอิสระ[5]
ในศรีลังกาใส่ใบบัวบกในข้าวต้ม โดยต้มข้าวกับน้ำซุปผักจนสุกนุ่ม ใส่กะทิ ปรุงรสด้วยเกลือ ยกลงแล้วจึงใส่ใบบัวบก ในไทยใช้เป็นผักแนม กินกับผัดไทย ผัดหมี่ หมี่กะทิ ขนมจีน ลาบ ทำยำใบบัวบก หรือคั้นทำน้ำใบบัวบก[6]ทางภาคใต้ใส่ในแกงพริกหมู[7] สำหรับผู้ที่แพ้ถ้ารับประทานใบและต้นเข้าไป ทำให้เวียนศีรษะ ท้องร่วง ถ่ายเป็นเลือด ใจสั่น แขนขากระตุกและเกร็ง[8]
อ้างอิง
แก้- ↑ "Pharmacological Review on Centella asiatica: A Potential Herbal Cure-all". Indian J Pharm Sci: 546–56. September 2010.
- ↑ "บัวบก สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ".
- ↑ พงศ์ศักดิ์ รัตนชัยกุลโสภณ และ ปาริชาติ พุ่มขจร. 2553. การใช้สมุนไพรในการป้องกันและรักษาโรคในปลา วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีที่ 12 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม 2553 น.63-71
- ↑ อัฐญาพร ชัยชมภู และนฤมล ทองไว. 2554. การยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรคบางชนิดโดยใช้สารสกัดสมุนไพรพื้นบ้าน เก็บถาวร 2013-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. การประชุมวิชาการครั้งที่ 8 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน
- ↑ จินดาพร คงเดช. 2551. การผลิตสารยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส และสารต้านอนุมูลอิสระจากพืชเพื่อใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- ↑ นิดดา หงษ์วิวัฒน์. บัวบก อาหารบำรุงสมอง. ครัว. ปีที่ 18 ฉบับที่ 212 เดือนกุมภาพันธ์ 2555 หน้า 18-26
- ↑ เมฆานี จงบุญเจือ และสมพิศ คลี่ขยาย. อาหารปักษ์ใต้ บ้าบ๋า ย่าหยาในอันดามัน. กทม. เศรษฐศิลป์ 2556
- ↑ เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล. ไม้มีพิษ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2552