นรินทร์กลึง
นรินทร์กลึง หรือ นรินทร์ ภาษิต (14 สิงหาคม พ.ศ. 2417 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2493) เป็นนักเคลื่อนไหวและนักวิพากษ์สังคม เคยเป็นผู้ว่าราชการเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) นครนายก ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ พระพนมสารนรินทร์ ด้วยวัยเพียง 39 ปี ทำหนังสือพิมพ์หลายเล่ม เช่น เหมาะสมัย และ เสียงนรินทร์ ในฐานะนักเขียนและบรรณาธิการ ตั้งพรรคการเมืองชื่อ "พระศรีอาริย์" ถูกทางการดำเนินคดีด้วยข้อหา "กบฏภายในที่เขียนข้อความเป็นปฏิปักษ์ต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ"[1] หนึ่งบุคคลร่วมยุคสมัยเดียวกันกับ ก.ศ.ร. กุหลาบ, เทียนวรรณ, เกิด บุนนาค, ถวัติ ฤทธิเดช
นรินทร์ ภาษิต | |
---|---|
นรินทร์กลึงโกนหัวครึ่งซีก นุ่งแดง และมีรูปพระเจ้าตากแขวนคอ ถ่ายเมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ. 2477 | |
เกิด | 14 สิงหาคม พ.ศ. 2417 เมืองนนทบุรี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 23 ธันวาคม พ.ศ. 2493 (76 ปี) จังหวัดพระนคร ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
ชื่ออื่น | นรินทร์กลึง |
อาชีพ | ข้าราชการ นักเขียน นักธุรกิจ |
คู่สมรส | ผิว |
บุตร | 5 คน |
ประวัติ
แก้วัยเด็กและรับราชการ
แก้นรินทร์ หรือเรียกกันในวัยเด็กว่า กลึง เกิดเมื่อ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2417 ที่จังหวัดนนทบุรี[2] ได้รับการศึกษาที่วัดพิชัยญาติ จนอายุ 15 จึงบวชเป็นสามเณร ไม่ถึงปีก็สึกเพื่อรับราชการในตำแหน่งเสมียน ด้วยการชักชวนของกรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ เทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงศุภมาตรา" ตำแหน่งนายอำเภอชลบุรี จากนั้นได้เลื่อนเป็นผู้ว่าราชการเมืองนครนายก มีบรรดาศักดิ์เป็น "พระพนมสารนรินทร์" โดยมีชื่อเสียงจากการปราบปรามโจรก๊กใหญ่ที่มีชื่อว่า โจรก๊กแขกสมันคลอง 16 จนรัชกาลที่ 5 รับสั่งให้กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ พามาเข้าเฝ้าขอดูตัว[3] เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงเสนอให้เลื่อนบรรดาศักดิ์พระพนมสารนรินทร์ขึ้นเป็นพระยา แต่กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ได้ยั้งไว้เนื่องจากเพิ่งเลื่อนเป็นพระได้เพียง 2 ปี ทำให้พระพนมสารนรินทร์น้อยใจขอลาพักราชการไปทำธุรกิจเรือเมล์ในแม่น้ำพนม จังหวัดปราจีนบุรี
กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ได้ขอให้มารับราชการตามเดิม โดยให้รับตำแหน่งปลัดมณฑลอุดร แต่พระพนมสารนรินทร์จะยังคงทำธุรกิจต่อจึงขอลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2452 ขณะที่อายุ 35 ปี (ข้อมูลตามแจ้งความกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 มกราคม ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451 แต่ขึ้น พ.ศ. 2452 ตามปฏิทินปัจจุบันแล้ว) ระบุว่า ให้ออกจากราชการ พักราชการเนื่องจากประพฤติตัวไม่สมควรแก่ตำแหน่ง[4]) แต่กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ทรงกริ้วจึงสั่งห้ามเรือเมล์ไทยจอดท่าหลวงทุกท่า ทำให้เรือเมล์ของกลุ่มพระพนมสารนรินทร์ดำเนินกิจการต่อไม่ได้
แนวคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมือง
แก้กระบอกเสียง
แก้พระพนมสารนรินทร์จึงหันเข้าศึกษาคติธรรมทางพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ได้ชวนพรรคพวกตั้ง "พุทธบริษัทสมาคม" พร้อมออกหนังสือ สารธรรม และ โลกธรรม เพื่อเผยแพร่งานของพุทธบริษัทสมาคม และเมื่อจะออกหนังสือ ช่วยบำรุงชาติ แต่เมื่อผู้ร่วมงานทราบว่ารัฐบาลไม่พอใจการดำเนินงานของพุทธบริษัทสมาคม ไม่ยอมให้ออกหนังสือเล่มนี้ ทำให้พระพนมสารนรินทร์ลาออกจากพุทธบริษัทสมาคม ไปตั้ง "วัตร์สังฆสมาคม" แต่ก็ทำให้เกิดความไม่พอใจทั้งรัฐบาลและฝ่ายสงฆ์ ทำให้พระพนมสารนรินทร์ถูกถอดบรรดาศักดิ์[5] งดบำนาญ จนขาดรายได้
นรินทร์จัดตั้งขบวนการที่ชื่อ "คณะยินดีคัดค้าน" เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมด้านต่าง ๆ พร้อมออกหนังสือพิมพ์ชื่อ เหมาะสมัย[6] เป็นสื่อให้กับขบวนการที่ตนตั้ง ออกได้ไม่กี่ฉบับก็ถูกปิด นรินทร์จึงออกใบปลิว มีใบปลิวฉบับหนึ่งที่ชื่อ "สงบอยู่ไม่ได้แล้ว" ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนในวงราชการมาก นรินทร์ยังออกใบปลิว "คัดค้านสงคราม" ค้านกระแสที่ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในที่สุดรัฐบาลนำข้ออ้างจากใบปลิวนี้เข้าจับนรินทร์เข้าคุก การฟ้องนี้ทำให้ประชาชนเกลียดชังข้าราชการ นรินทร์จำคุกอยู่ 2 ปี 30 วัน
จากหนั้นออกหนังสือ ชวนฉลาด แต่ออกอยู่ได้ไม่กี่เล่มก็เกิดป่วย จนต้องหยุดออกไปรักษาตัว พอหายก็ไปบวชเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้ง แต่ก็มีเรื่องกับวงการสงฆ์จึงสึกออกมา จากนั้นได้ออกมาผลิตยาดองที่ชื่อ "นกเขาคู่" ประกาศสรรพคุณว่าแก้สารพัดโรค ธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดีจนตั้งโรงงานผลิต มีรายได้มากมาย
วัตรนารีวงศ์
แก้นรินทร์ได้สร้างวัตรนารีวงศ์ เป็นตึกสูง 7 ชั้นริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถวนนทบุรี แล้วบวชลูกสาว 2 คน ชื่อ จงดีและสาระ เป็นสามเณรีขึ้นเป็นครั้งแรก จนถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏต่อพุทธศาสนา ต่อมา วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2467 รัฐบาลประกาศห้ามผสมแอลกอฮอล์ลงในยารักษาโรค ทำให้ยานกเขาคู่กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำให้นายนรินทร์หมดเนื้อหมดตัว
เมื่อก้าวสู่สมัยรัชกาลที่ 7 หลังจากบวชสามเณรีมาได้ 6 ปี คณะอภิรัฐมนตรีมีมติให้จับกุมสามเณรีให้เปลื้องจีวรออก พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ออกพระบัญชา ลงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ห้ามมิให้พระสงฆ์ไทยทำการบวชให้ภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี จากพระบัญชาที่คณะสงฆ์ในปัจจุบันยังนำมาใช้เป็นเหตุผลอ้างไม่รับภิกษุณีสงฆ์
นรินทร์เห็นว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ จึงถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทรงรับสั่งให้นายนรินทร์เลิกความคิดสามเณรีเสีย ซึ่งนายนรินทร์ก็ยอม แต่ได้บวชตัวเองโดยไม่มีอุปัชฌาย์ และตั้งฉายาให้ตัวเองว่า "ฐิตธฺมโมภิกขุ" สร้างเรื่องอื้อฉาวใหม่ขึ้นมาอีก ฐิตธฺมโมภิกขุเห็นว่าคำสอนของบรรดาสงฆ์ที่ว่าให้คนสละทรัพย์ แต่บรรดาสงฆ์กลับสะสมความมั่งคั่งเสียเอง เป็นการเทศนาที่สวนทางที่ตัวเองสั่งสอน จึงทำหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชให้สละทรัพย์เพื่อเป็นแบบอย่าง เลยถูกจับในข้อหาหมิ่นพระสังฆราช ถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือน
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
แก้เมื่อพ้นโทษหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว นรินทร์จัดตั้ง "สมาคมช่วยชาติศาสนาพระมหากษัตริย์" เป็นปากเสียงให้ประชาชนที่ได้รับความอยุติธรรม ออกใบปลิว "ไทยไม่ใช่ทาส" เรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเก็บเงินรัชชูประการ และเลิกการใช้งานโยธาคนที่ไม่มีเงินเสีย โดยอ้างว่าถ้าไม่เลิกเก็บก็เท่ากับรัฐบาลเป็นโจรปล้นประชาชน นรินทร์ถูกจับข้อหายุยงให้ราษฎรกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ถูกศาลสั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน นรินทร์ประท้วงด้วยการอดข้าวในคุก แต่อดได้ 21 วันก็ถูกหามตัวส่งโรงพยาบาลวชิระช่วยชีวิตไว้ และถูกปล่อยตัวให้เป็นอิสระ โดยรัฐบาลยอมที่จะเลิกเก็บเงินรัชชูประการ
นรินทร์ออกหนังพิมพ์ แนวหน้า โจมตีจอมพล ป.พิบูลสงคราม ด้วยถ้อยคำรุนแรง เป็นผลทำให้ แนวหน้า ถูกปิด นรินทร์กลึงถูกจับข้อหากบฏ ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี หลังออกจากคุกยังคงออกใบปลิวต่อต้านจอมพล ป. โดนข้อหาเดิมอีกครั้งกลับไปเข้าคุกอีก 2 ปี
เมื่อพ้นโทษออกมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2485 นรินทร์กลึงส่งจดหมายถึงจอมพล ป.พิบูลสงครามโดยตรงด้วยถ้อยคำด่ารุนแรงเช่นเดิม เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีบันทึกหนึ่งเขียนไว้ว่า "มึงมันจองหองพองขน ประดุจอ้ายพวกกิ้งก่าได้ทองโดยแท้" แต่จดหมายฉบับนี้กลับคืนผู้เขียน นรินทร์กลึงส่งไปอีกและยังตีพิมพ์เผยแพร่ แต่จดหมายก็คืนกลับพร้อมบันทึกต่อท้ายในจดหมายมาด้วยว่า
...การขออนุญาตพิมพ์จดหมายนั้น ว่าตามหลักประชาธิปไตย ท่านทำได้ ผมก็อนุญาตให้ท่านทำ แต่จะผิด ก.ม.อย่างไรไม่ทราบ สุดแต่ทางเจ้าหน้าที่ปกครองจะวินิจฉัย
สิทธิเสรีภาพของมนุษย์นั้น ผมได้นับถือมานานแล้ว และอยากจะเริ่มส่งเสริมให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ฉะนั้นด้วยหลักการนี้ ผมจึงไม่ขัดข้อง หวังว่าคงจะสบาย หมั่นทำบุญตักบาตร ท่านจะสุขยิ่งขึ้น
เคารพรัก
ป.พิบูลสงคราม
นรินทร์กลึงนำจดหมายพร้อมบันทึกอนุญาตของจอมพล ป.พิมพ์เป็นใบปลิวแจกจ่ายไปทั่วประเทศ ทำให้เขาโด่งดังเป็นที่โจษขานกันทั้งเมือง แต่ตำรวจเห็นว่าเกินขอบเขตเสรีภาพ จึงจับกุมเข้าคุกเป็นครั้งที่ 6 ครั้นรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นรินทร์กลึงจึงถูกปล่อยออกมาในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2489
เขาได้เรียกร้องให้มีการคลี่คลายปมปัญหากรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 โดยได้เลียนแบบ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม ที่เคยถือตะเกียงคบเพลิงเข้าไปยังเขตพระราชฐานของรัชกาลที่ 4 ในช่วงกลางวัน
ในวัยชรานรินทร์กลึง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2492 แต่สอบตก จากนั้นตั้งสำนักงานในชื่อ "สำนักงานปฤกษาภารราษฎร์" พร้อมกับออกหนังสือพิมพ์ เสียงนรินทร์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม นรินทร์กลึงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ด้วยหัวใจวาย
ครอบครัว
แก้นรินทร์สมรสกับนางผิว มีบุตรด้วยกัน 5 คน เป็นบุตรชาย 3 คน คือ นรงค์ สรีไทย และไขยโย และหญิง 2 คน คือ สาระและจงดี ซึ่งเป็นผู้ร่วมกับบิดาในการรื้อฟื้นภิกษุณี[8]
อ้างอิง
แก้- ↑ เพ็ญสุภา สุขคตะ. "ปริศนาโบราณคดี จาก "เทียนวรรณ" "นรินทร์กลึง" ถึง "สมยศ" กบฏบรรณาธิการ". มติชนสุดสัปดาห์.
- ↑ รัชตะ จึงวิวัฒน์. ""นรินทร์กลึง" อดีตขุนนางโดนคดีขบถ "ภัยต่อความสงบ" ติดคุกยังร่อนจดหมายไปทั่ว". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ ฉัตรสุมาลย์. "ภิกษุณีสงฆ์ในสังคมไทย ว่าด้วย "นรินทร์ กลึง" และ "พระบัญชา 18 มิ.ย.2471"". มติชนสุดสัปดาห์.
- ↑ กระทรวงมหาดไทย. "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 มกราคม รัตนโกสินทร์ศก 127" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
- ↑ กระทรวงมหาดไทย. "แจ้งความกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ถอดพระพนมสารนรินทร์ (กลึง) ลงวันที่ 23 มีนาคม พระพุทธศักราช 2456" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา.
- ↑ ""นรินทร์กลึง" อดีตขุนนางชั้นเจ้าเมือง ผู้กล้าส่งจดหมายด่าจอมพล ป. "มึงต้องลาออกเดี๋ยวนี้"". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ โรม บุนนาค. ""นรินทร์กลึง" นักสู้ผู้ไม่กลัวคุก! ยอมสละตำแหน่งเจ้าเมืองและพระยา ไม่ยอมก้มหัวให้ความอยุติธรรม!!". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "ปฐมบทแห่งวาทกรรมภิกษุณีเถรวาทไทย".