ถนนราชดำเนิน (กรุงเทพมหานคร)
ถนนราชดำเนิน เป็นถนนสายประวัติศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ตัดผ่านพื้นที่เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2442 และแล้วเสร็จทั้งสายเมื่อ พ.ศ. 2446
ถนนราชดำเนิน | |
---|---|
แผนที่ถนนราชดำเนิน | |
ภาพมุมสูงของถนนราชดำเนินช่วงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย | |
ข้อมูลของเส้นทาง | |
ความยาว | 3.2 กิโลเมตร (2.0 ไมล์) |
ทางหลวงที่เป็น ส่วนประกอบ |
|
ทางแยกที่สำคัญ | |
ปลายทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ | แยกป้อมเผด็จ ในเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร |
| |
ปลายทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ | ลานพระบรมรูปทรงม้า ในเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร |
ตำแหน่งที่ตั้ง | |
ประเทศ | ไทย |
ระบบทางหลวง | |
ประวัติ
แก้ถนนราชดำเนินเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2442 เพื่อทรงใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต เพื่อความสง่างามของบ้านเมืองและเพื่อให้ประชาชนได้เดินเที่ยวพักผ่อน จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนราชดำเนินให้กว้างที่สุด แต่ทรงให้สองฟากถนนเป็นที่ตั้งของวังและสถานที่ราชการใหญ่ ๆ มิให้สร้างตึกแถวหรือร้านเล็ก ๆ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นย่านการค้า โดยในชั้นแรกนั้นทรงมีพระราชดำริว่า เมื่อสร้างถนนที่ตำบลบ้านพานถมจะต้องรื้อป้อมหักกำลังดัสกร น่าจะรักษาชื่อป้อมไว้ใช้เป็นชื่อถนน แต่จะเรียกว่าถนนหักกำลังดัสกร "ก็ดูแปลไม่ได้ความกันกับถนน แต่พักเอาไว้ตรองทีหนึ่ง ควรจะต้องตั้งชื่อให้ทันก่อนตัดถนน"
สาเหตุของการตัดถนนเนื่องจากมีพระราชดำริว่า ท้องที่ตำบลบ้านพานถมถึงท้องที่ตำบลป้อมหักกำลังดัสกรเป็นที่เรือกสวนเปลี่ยวอยู่ระหว่างถนนพฤฒิบาศ (ปัจจุบันคือถนนนครสวรรค์) กับถนนสามเสน ยังไม่เป็นที่สมบูรณ์ทันเสมอท้องที่ตำบลอื่น เพราะยังไม่มีถนนหลวงที่จะทำให้ประชาชนทำการค้าขายสะดวกขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนขึ้นโดยตัดตั้งแต่ปลายถนนพระสุเมรุ ข้ามคลองรอบกรุงที่ตำบลบ้านพานถม ตรงไปยังป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมบรรจบกับถนนเบญจมาศ (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของถนนราชดำเนินนอก) พระราชทานนามว่า "ถนนราชดำเนิน" เช่นเดียวกับถนนควีนส์วอล์ก (Queen’s walk) ในกรีนปาร์ก (Green Park) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการและอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้างถนนราชดำเนิน ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายถนนราชดำเนินไปตัดทางในตำบลบ้านหล่อ เพื่อให้ถนนตรงได้แนวตลอดถนนเบญจมาศด้วย และโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนเทวียุรยาตร (ปัจจุบันคือถนนประชาธิปไตย) ผ่านตำบลบ้านพานถมขึ้นแทน ถนนราชดำเนินนอกเริ่มตั้งแต่ถนนพฤฒิบาศ ผ่านตำบลบ้านหล่อไปออกตำบลป้อมหักกำลังดัสกร ข้ามคลองผดุงกรุงเกษมไปบรรจบกับถนนเบญจมาศ ถือเป็นถนนสายแรกที่ใช้วิธีการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินเพื่อตัดถนน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดถนนราชดำเนินนอก สะพานมัฆวานรังสรรค์ และถนนเบญจมาศ เนื่องในอภิลักขิตสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 50 พรรษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2444 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่สะพานเสี้ยว ตรงไปข้างคลองบางลำพูต่อกับถนนราชดำเนินนอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกถนนราชดำเนินช่วงแรกว่าถนนราชดำเนินนอก ต่อมามีการก่อสร้างถนนราชดำเนินในมาจดถนนหน้าพระลาน โดยสร้างขยายแนวถนนจักรวรรดิวังหน้าเดิม เริ่มจากแยกจุดบรรจบระหว่างถนนหน้าพระลานและถนนสนามไชย เลียบท้องสนามหลวงฝั่งตะวันออก และไปบรรจบถนนราชดำเนินกลางที่สะพานผ่านพิภพลีลา แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2446
ถนนราชดำเนินเป็นถนนที่สวยงามและเป็นศรีสง่าของบ้านเมือง ตั้งแต่แรกสร้างมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย โดยจะถูกใช้เป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมืองในช่วงวิกฤตการณ์ของประเทศหลายต่อหลายครั้ง [1] [2]
องค์ประกอบ
แก้ถนนราชดำเนินแบ่งออกเป็นสามช่วง ได้แก่
- ถนนราชดำเนินใน มีความยาวทั้งสิ้น 525 เมตร กว้าง 36 เมตร[3] อยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน คือแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เริ่มจากถนนหน้าพระลาน เป็นแนวถนนต่อจากถนนสนามไชย เลียบท้องสนามหลวงฝั่งตะวันออกขึ้นไปทางทิศเหนือ และสิ้นสุดที่สะพานผ่านพิภพลีลาซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม
- ถนนราชดำเนินกลาง มีความยาวทั้งสิ้น 1,200 เมตร กว้าง 58 เมตร[3] อยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นนอก เริ่มจากสะพานผ่านพิภพลีลา ไปทางทิศตะวันออก เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงตลาดยอดกับแขวงบวรนิเวศในพื้นที่เขตพระนคร ไปจนตัดกับถนนตะนาวที่แยกคอกวัว จากนั้นมุ่งหน้าไปทางทิศเดิมผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และป้อมมหากาฬ และสิ้นสุดที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองรอบกรุง
- ถนนราชดำเนินนอก มีความยาวทั้งสิ้น 1,475 เมตร กว้าง 58 เมตร[3] อยู่นอกพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กับแขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ถือเป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างเขตพระนครกับเขตอื่นๆ เพียงเส้นเดียวที่เป็นถนน ระหว่างแบ่งเขต ถนนจะตัดกับถนนวิสุทธิกษัตริย์ (ทางแยก จ.ป.ร.) และถนนกรุงเกษม (ทางแยกมัฆวาน) ก่อนข้ามคลองผดุงกรุงเกษมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์และเข้าสู่แขวงดุสิต เขตดุสิต ตัดกับถนนพิษณุโลก (ทางแยกสวนมิสกวัน) และมุ่งไปทางทิศเดิมจนไปสิ้นสุดที่แยกหน้าลานพระบรมรูปทรงม้า ตัดกับถนนศรีอยุธยา
สถานที่สำคัญบนถนนราชดำเนิน
แก้- ท้องสนามหลวง
- สะพานผ่านพิภพลีลา
- อุทกทาน
- โรงแรมรัตนโกสินทร์
- สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
- หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร
- อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
- อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
- โรงเรียนสตรีวิทยา
- ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์
- สภาทนายความ
- ศาลาเฉลิมไทย
- ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
- โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร
- สะพานผ่านฟ้าลีลาศ
- นิทรรศน์รัตนโกสินทร์
- ป้อมมหากาฬ
- พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- กระทรวงคมนาคม
- กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- สนามมวยราชดำเนิน
- สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย
- สะพานมัฆวานรังสรรค์
- กองบัญชาการกองทัพบก
- ทำเนียบรัฐบาล
- กระทรวงศึกษาธิการ
เหตุการณ์สำคัญบนถนนราชดำเนิน
แก้พระราชพิธี
แก้- พิธีสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทย ในพระราชพิธีรัชดาภิเษก พ.ศ. 2514
- พิธีสวนสนามแสดงแสนยานุภาพของกองทัพไทย ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539
- การเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
- การเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา พุทธศักราช 2555
การเมือง
แก้- การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
- เหตุการณ์ 14 ตุลา
- เหตุการณ์ 6 ตุลา
- เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
- การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2549
- การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551
- เหตุการณ์ นปช. ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ 2 กันยายน พ.ศ. 2551
- การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เมษายน พ.ศ. 2552, มีนาคม - เมษายน พ.ศ. 2553
- การชุมนุมของ กปปส. พ.ศ. 2556 - 2557
- การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563 - 2564
อื่น ๆ
แก้ภาพปริทัศน์
แก้รายชื่อทางแยก
แก้จังหวัด | เขต | กม.ที่ | ชื่อจุดตัด | ซ้าย | ขวา |
---|---|---|---|---|---|
ถนนราชดำเนิน (แยกพระบรมรูปทรงม้า – แยกหน้าพระลาน ) | |||||
กรุงเทพมหานคร | ดุสิต | 0+000 | แยกพระบรมรูปทรงม้า | ถนนศรีอยุธยา จากโรงพยาบาลสงฆ์ | ถนนศรีอยุธยา จากสี่เสาเทเวศร์ |
0+271 | แยกสวนมิสกวัน | ถนนพิษณุโลก ไปยมราช | ถนนพิษณุโลก ไปสี่เสาเทเวศร์ | ||
0+543 | สะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้ามคลองผดุงกรุงเกษม | ||||
ป้อมปราบศัตรูพ่าย | 0+593 | แยกมัฆวานรังสรรค์ | ถนนกรุงเกษม ไปหัวลำโพง | ถนนกรุงเกษม ไปเทเวศร์ | |
พระนคร | 1+000 | แยกจปร. | ถนนจักรพรรดิพงษ์ ไปแม้นศรี | ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ไปสะพานพระราม 8 | |
1+490 | แยกผ่านฟ้าลีลาศ | ถนนนครสวรรค์, ไปนางเลิ้ง ถนนหลานหลวง, ไปยมราช (ห้ามรถตรงไป ยกเว้นรถประจำทาง) |
ถนนราชดำเนินกลาง ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, ผ่านฟ้าลีลาศ | ||
1+500 | สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ข้ามคลองบางลำพู | ||||
1+500 | แยกป้อมมหากาฬ | ถนนมหาไชย ไปสามยอด | ถนนพระสุเมรุ ไปสะพานวันชาติ | ||
1+900 | อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย | ถนนดินสอ ไปเสาชิงช้า | ถนนดินสอ ไปสะพานวันชาติ | ||
2+200 | แยกคอกวัว | ถนนตะนาว ไปสี่กั๊กพระยาศรี | ถนนตะนาว ไปบางลำพู | ||
2+700 | สะพานผ่านพิภพลีลา ข้ามคลองคูเมืองเดิม | ||||
2+750 | แยกผ่านพิภพลีลา | ถนนอัษฎางค์ ไปปากคลองตลาด | ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า, ไปสะพานพระปิ่นเกล้า - บรมราชชนนี ถนนราชินี, ไปสนามหลวง - โรงละครแห่งชาติ | ||
3+200 | แยกป้อมเผด็จดัสกร | ถนนหน้าพระลาน ไปถนนราชินี | ถนนหน้าพระลาน ไปท่าช้าง | ||
ตรงไป: ถนนสนามไชย ไปสวนสราญรมย์ - ปากคลองตลาด | |||||
สะพาน กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต |
อ้างอิง
แก้- ↑ Ratchadamnoen Avenue Bangkok's Champ Elysees (อังกฤษ)
- ↑ ทดสอบความรู้เรื่องถนนราชดำเนิน
- ↑ 3.0 3.1 3.2 อิทธิพลของงานภูมิทัศน์เมืองในทวีปยุโรป ที่มีผลต่อภูมิทัศน์เมืองบางกอกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5. (2559). วิทยานิพนธ์ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- 0.010729&t=k ภาพถ่ายทางอากาศของ ถนนราชดำเนิน (กรุงเทพมหานคร)
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ถนนราชดำเนิน (กรุงเทพมหานคร)
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์