ฌากอแบ็ง
สมาคมเพื่อนรัฐธรรมนูญ (ฝรั่งเศส: Société des amis de la Constitution) หรือหลังเปลี่ยนชื่อในปี ค.ศ. 1792 เป็น สมาคมฌากอแบ็ง เพื่อนของเสรีภาพและความเสมอภาค (ฝรั่งเศส: Société des Jacobins, amis de la liberté et de l'égalité) หรือเรียกอย่างง่ายว่า สโมสรฌากอแบ็ง (ฝรั่งเศส: Club des Jacobins) เป็นสโมสรทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ก่อตั้งในช่วงการประชุมสภาฐานันดร ค.ศ. 1789 จากการรวมกลุ่มของพวกผู้แทนจากดัชชีเบรอตาญอันเป็นพวกต่อต้านระบอบกษัตริย์ เริ่มแรกมีสมาชิกไม่กี่คนและเป็นการรวมตัวอย่างลับ ๆ ก่อนที่ต่อมาได้พัฒนากลายเป็นขบวนการระดับชาติที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้จัดตั้งสาธารณรัฐซึ่งมีสมาชิกมากกว่าครึ่งล้านคน[1]
ฝรั่งเศส: Club des Jacobins | |
คําขวัญ | "อยู่อย่างเสรีหรือไม่ก็ตาย" (ฝรั่งเศส: Vivre libre ou mourir) |
---|---|
ถัดไป | สโมสรป็องเตอง |
ก่อตั้ง | ค.ศ. 1789 |
ก่อตั้งที่ | พระราชวังแวร์ซาย กรุงปารีส |
วัตถุประสงค์ |
|
สํานักงานใหญ่ | กรุงปารีส |
ภูมิภาค | ฝรั่งเศส |
สมาชิก (ค.ศ. 1793) | ราว 500,000 คน[1] |
ภาษาทางการ | ฝรั่งเศส |
บุคลากรหลัก | ฌัก ปีแยร์ บรีโซ, มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์, ฌ็อง-ปอล มารา, กามีย์ เดมูแล็ง, ฌอร์ฌ ด็องตง, ปอล บารัส, หลุยส์ อ็องตวน เดอ แซ็ง-ฌุสต์ |
หน่วยงานในกํากับ | หนังสือพิมพ์:
|
อย่างไรก็ตาม หลังฝ่ายปฏิวัติยึดอำนาจจากกษัตริย์ได้แล้ว สโมสรฌากอแบ็งแตกเป็นสองขั้ว ฝ่ายแรกคือขั้วลามงตาญ (La Montagne) ซึ่งต้องการถอนรากถอนโคนระบอบกษัตริย์ อีกฝ่ายคือขั้วฌีรงแด็ง (Girondin) ซึ่งต้องการใช้ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[2] ในช่วงแรก ขั้วฌีรงแด็งครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา พวกเขาสามารถจัดตั้งระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ พระเจ้าหลุยส์ยังเป็นกษัตริย์ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลณีรงแด็งต้องการก่อสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขัดกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ การเสด็จหนีของพระเจ้าหลุยส์ยังทำให้ขั้วลามงตาญเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น
1 มิถุนายน ค.ศ. 1793 กองทัพประชาชนติดอาวุธหลายหมื่นคนบุกล้อมสภา เกิดการจับกุมสมาชิกขั้วณีรงแด็งขนานใหญ่ มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ ผู้นำขั้วลามงตาญกลายเป็นผู้นำของฌากอแบ็ง[3] ฝ่ายลามงตาญได้เข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จในฝรั่งเศส การปกครองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายใต้คณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมได้ถูกเรียกว่า "สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว" ผู้นำ 21 คนของพลพรรคฌีรงแด็ง ตลอดจนประชาชนผู้ต่อต้านกว่า 17,000 คนถูกประหารด้วยกิโยตีน
ในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1794 รอแบ็สปีแยร์ได้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่แห่งชาติว่าเขาจะกำจัดศัตรูและผู้สมรู้ร่วมคิดทั้งหมดซึ่งมีบางส่วนเป็นนักการเมืองทรงอิทธิพล อย่างไรก็ตาม รอแบ็สปีแยร์ไม่ได้ระบุว่านักการเมืองทรงอิทธิพลนั้นเป็นใคร ทำให้บรรดาสมาชิกสภาเกิดความระแวงว่าตัวเองจะตกเป็นเป้าหมาย ทำให้ในคืนนั้นเอง สมาชิกสภาบางส่วนวางแผนโค่นล้มรอแบ็สปีแยร์ การประชุมสภาในเช้าวันรุ่งขึ้น บรรดาสมาชิกสภาต่างอภิปรายโจมตีรอแบ็สปีแยร์และแซ็ง-ฌุสต์ว่ามีแผนประทุษร้ายต่อสภา รอแบ็สปีแยร์พยายามแก้ต่างแต่ก็ถูกขัดขวางโดยความอลหม่านในสภาที่บรรดาผู้แทนต่างส่งเสียงโหวกเหวกวิจารณ์รอแบ็สปีแยร์อย่างรุนแรง สภาได้ลงมติให้จับกุมรอแบ็สปีแยร์และพวก
เมื่อข่าวดังกล่าวสะพัดไปถึงในกรุงปารีส พวกที่สนับสนุนรอแบ็สปีแยร์จึงนำกำลังทหารจากปารีสบุกไปยังสภา แต่บารัสได้สั่งให้กองทหารของนายพลนโปเลียนทำการคุ้มกันสภาไว้ เมื่อพวกที่สนับสนุนรอแบ็สปีแยร์ทราบข่าวนี้ก็หันไปตั้งหลักอยู่ที่ออแตลเดอวีล สภาตอบโต้โดยการลงมติให้พวกเขาเป็นบุคคลนอกกฎหมาย ใครก็ตามที่หลบหนีถือว่ายอมรับในความผิดนั้น เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมและประหารได้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมง ในเช้าวันถัดมา (28 กรกฎาคม) รอแบ็สปีแยร์และพวกอีก 21 คนถูกคุมตัวไปประหารชีวิตด้วยกิโยตีน ณ ปลัสเดอลาเรโวลูซียง กลางกรุงปารีส อันเป็นสถานที่เดียวกับที่อริของเขาอย่างพระเจ้าหลุยส์ที่ 16, ฌอร์ฌ ด็องตง และกามีย์ เดมูแล็ง ถูกประหารไปก่อนหน้า ท้ายที่สุด สโมสรฌากอแบ็งก็ล่มสลายลงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1794
บุคลากรหลักของฌากอแบ็ง
แก้-
ฌัก ปีแยร์ บรีโซ
(ค.ศ. 1754–1793) -
มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์
(ค.ศ. 1758–1794) -
ฌ็อง-ปอล มารา
(ค.ศ. 1743–1793) -
กามีย์ เดมูแล็ง
(ค.ศ. 1760–1794) -
เคานต์แห่งมีราโบ
(ค.ศ. 1749–1791) -
ฌอร์ฌ ด็องตง
(ค.ศ. 1754–1793) -
ปอล บารัส
(ค.ศ. 1755–1829) -
หลุยส์ อ็องตวน เดอ แซ็ง-ฌุสต์
(ค.ศ. 1767–1794)
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Brinton, Crane (2011) [1930]. The Jacobins: An Essay in the New History. Transaction Publishers. p. xix. ISBN 9781412848107. สืบค้นเมื่อ 16 April 2015.
- ↑ (ดัตช์) Noah Shusterman – De Franse Revolutie (The French Revolution). Veen Media, Amsterdam, 2015. (Translation of: The French Revolution. Faith, Desire, and Politics. Routledge, London/New York, 2014.) Chapter 6 (p. 223–269) : The new French republic and its enemies (fall 1792–summer 1793).
- ↑ (ดัตช์) Noah Shusterman – De Franse Revolutie (The French Revolution). Veen Media, Amsterdam, 2015. (Translation of: The French Revolution. Faith, Desire, and Politics. Routledge, London/New York, 2014.) Chapter 5 (p. 187–221) : The end of the monarchy and the September Murders (summer–fall 1792).